VVYGEMS.COM

บทความ

ทับทิม ราชาแห่งอัญมณี

28-03-2560 14:14:15น.


ทับทิม ราชาแห่งอัญมณี


ทับทิม (ruby) เป็นพลอยแร่คอรันดัม (corundum) ชนิดหนึ่งที่มีสีแดง ในประเทศไทยพ่อค้าพลอย จะเรียกทับทิมว่า“พลอยแดง”   โดยสีแดงของพลอยชนิดนี้เกิดจากการ มีธาตุโครเมียม (Cr) เป็นธาตุให้สี  มีหลายเฉด ตั้งแต่แดงอมชมพู แดงอมม่วง แดงอมส้ม ไปจนถึงแดงสด  ซึ่งเป็นสีที่สวยที่สุด ทับทิมมี องค์ประกอบทางเคมีเป็นอะลูมิเนียมออกไซด์  (Al2O3) มีความแข็ง 9 รองจากเพชร  ทับทิมเป็นพลอยที่ โดยปกติมีมลทินหรือตำหนิภายในค่อนข้างมาก ถ้ามีสีแดงสวย  มีเนื้อใส และมีรอยแตกภายในน้อย มักจะถูกเจียระไนเป็นแบบเหลี่ยม (faceted)  แต่ถ้ามีสีแดงคล้ำ มีเนื้อทึบ และมีรอยแตกภายในมาก  มักจะถูกเจียระไนแบบหลังเบี้ยหรือหลังเต่า (cabochon) 
         

    
  ภาพซ้าย: เจียระไนแบบเหลี่ยม (Faceted) ภาพขวา: เจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon)



แหล่งทับทิม

       แหล่งทับทิมที่สำคัญได้แก่ พม่า เวียดนาม โมซัมบิก มาดากัสการ์และแทนซาเนีย สำหรับในประเทศไทย เคยเป็นศูนย์กลางการค้าทับทิม  เนื่องจากทับทิมที่อยู่ในตลาดการค้าจำนวนมากมีแหล่งกำเนิดมาจากไทย  โดยมีแหล่งอยู่ที่จังหวัดตราดและจันทบุรีทับทิมไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติในนามของ  “ทับทิมสยาม” (Siamese ruby)  แต่ปัจจุบันทับทิมไทยมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยมาก  จึงเป็นพลอยที่หายากและมีราคาสูง                   


          ภาพ: ก้อนพลอยแดงที่ปรับปรุงคุณภาพโดยการเผาและเติมตะกั่ว  

       
การปรับปรุงคุณภาพ

       ทับทิมปรับปรุงคุณภาพโดยการเผาหรือใช้ความร้อน (heat treatment)  เพื่อทำให้สีสวย มีความวาว และประกายมากขึ้น  ทับทิมที่มีรอยแตกภายในค่อนข้างมาก มักปรับปรุงคุณภาพด้วยการเผาและเติมแก้ว  หรือสารอื่นๆ เช่น ตะกั่ว ในเนื้อทับทิม (fracture filling)  เพื่อให้มีเนื้อใสขึ้น มองเห็นรอยแตกน้อยลง ทับทิมย้อมสี (coating)  มักมีสีเข้มผิดธรรมชาติและมักมีสีตกค้างตามรอยแตก ทับทิมซ่านสี (diffusion)  อาจเห็นสีเข้มตามขอบเหลี่ยมเจียระไน และสีจะหายไปเมื่อเจียระไนขัดผิวใหม่  นอกจากนี้ยังมีการนำ ทับทิมสังเคราะห์ (synthetic ruby) ไปเผา  เพื่อให้มีลักษณะภายในเหมือนมีมลทินตามธรรมชาติอีกด้วย 
     


  ภาพ: ทับทิมสีเลือดนก
   
         
หลักในการเลือกซื้อทับทิม


       หลักในการเลือกซื้อทับทิม ให้พิจารณาเรื่องสีเป็นอันดับแรก  สีที่สวยที่สุดและมีมูลค่ามากที่สุด คือ สีแดงสด ในทางการค้า  จะเปรียบสีแดงสดของทับทิมกับสีของเลือดนกพิราบ (pigeon’s blood)ให้พิจารณาเลือกทับทิมที่มีสีสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ดโทนสีไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป ลำดับต่อมาให้ดูที่

        ความสะอาดหรือมลทิน ภายใน ปกติแล้วจะหาทับทิมที่ปราศจากมลทินนั้นหาได้ยาก แต่ควรเลือกที่ มีมลทินค่อนข้างน้อย  ทับทิมที่มีมลทินจำนวนมากซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่า และมีรอยร้าวบนผิวพลอย  จะมีคุณภาพต่ำและมีราคาถูก จากนั้นให้ดูที่การเจียระไน ยิ่งมีเหลี่ยมที่คมชัดและมีความสมมาตรมากเท่าไหร่
ก็จะช่วยให้พลอยเม็ดนั้นมีประกายที่สวยงามโดดเด่นมากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ระวังการสับสนกับอัญมณีที่มีสีแดงชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น  สปิเนลสีแดง โกเมนสีแดง ทัวร์มาลีนสีแดง เป็นต้น  รวมถึงทับทิมสังเคราะห์ด้วย  ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อกับผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือ  หรืออาจตรวจสอบชนิดของพลอยก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ

               

     

ภาพ: ทับทิมสตาร์

       ทับทิมสตาร์หรือทับทิมสาแหรก (star ruby) ใช้หลักการเลือกสีเช่นเดียวกัน  เลือกสตาร์หรือขาที่สวยงาม ตรง คมชัด ยาวจรดขอบพลอย  และระวังทับทิมสตาร์สังเคราะห์ ซึ่งมีขาคมชัดผิดธรรมชาติ  และดูเหมือนลอย ออกมาจากผิวพลอย
         
         
การดูแลรักษา


       การดูแลรักษาทับทิม ในกรณีที่เป็นพลอยร่วงที่ยังไม่เข้าตัวเรือน  ควรเก็บแยกเม็ดไม่รวมในห่อเดียวกัน เพื่อป้องกันการบิ่น  หรือกรณีที่เป็นเครื่องประดับทับทิม  ควรเก็บใส่กล่องแยกจากเครื่องประดับอัญมณีชนิดอื่น โดยเฉพาะเพชร  เพื่อป้องกันการขูดขีดเป็นรอย   

       การทำความสะอาดทำได้โดยใช้น้ำยาล้าง เครื่องประดับหรือสบู่เหลวอ่อนๆ ผสมน้ำ ใช้แปรงขนนุ่มขัดเบาๆ  จากนั้นใช้ผ้านุ่มซับ ผึ่งลมหรือเป่าให้แห้ง  ที่สำคัญอย่าทำความสะอาดทับทิมที่มีรอยแตกร้าว หรือทับทิมเผา ใส่แก้วตะกั่ว  ด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิก

       ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับทับทิมขณะทำกิจกรรม ที่เสี่ยงต่อความเสียหายของทับทิม เช่น ทำความสะอาดบ้าน ประกอบอาหาร  เล่นกีฬา เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อความสวยงามคงคุณค่าขอ งทับทิมตราบนานเท่านาน
         
         
บทความโดย : vvygems.com

       

>>เลือกซื้อพลอยทับทิมจากวีวี่เจมส์